- Back to Home »
- 2554 , น้ำท่วม , มหาอุทกภัย 2554 , ไหหม่า , อุทกภัย »
- แกะรอยน้ำท่วม ’54 บันทึกไว้ก่อนเลือน
Posted by : Unknown
วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
อภิมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นยังเป็นวาทะถกเถียง เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นไม่จบสิ้น หาผู้หาญกล้ายืดอกแสดงความรับผิดชอบไม่ได้เหมือนปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ มี ทั้งโทษธรรมชาติปีนี้มีพายุพัดเข้ามาก รวมทั้งคิดไกลมองเป็นเกมการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้ จับมือกับพระพิรุณ ปล่อยฝนตกหนักแล้วแอบกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนไว้ไม่ยอมปล่อยระบาย วางยารอท่ารัฐบาลใหม่จะได้สำลักน้ำท่วมเสียความนิยมทางการเมือง ข้อครหาสาดโคลนกันไปมาเป็นเรื่องจริง หรือจินตนาการเพื่อโบ้ยผิดให้พ้นตัว สังคมข้อมูลข่าวสารสารพัดสื่อยุคนี้เป็นเรื่องยากที่คนไทยจะรู้ได้เท่าทัน นอกจากจะต้องย้อนรอยไปดูความเป็นมาของมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ในยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ มหาอุทกภัย 2554... ประเทศไทยเจอพายุซัดเข้ามาถึง 5 ลูกเต็มๆ เกินปัญญาจะรับไหว จริงเท็จแค่ไหน บันทึกข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในข้อหัว 'ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ.2554' มีพายุเกิดขึ้นทั้งหมด 34 ลูก... แต่มีพายุที่พัดเข้ามาแถวบ้านเราแค่ 5 ลูก ลูกแรกเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน พายุ 'ไหหม่า' ตามด้วย 'นกเตน' ตอนปลายเดือนกรกฎาคม เว้นระยะพักไปเกือบ 2 เดือนมาในช่วง 23 ก.ย.-5 ต.ค. มีพายุก่อตัวไล่ตามกันมาติดๆ ถึง 3 ลูกนั่นคือ 'เนสาด' ตามติดด้วย 'ไห่ถาง' และ ปิดท้ายด้วย 'นาลแก' แต่พายุ 5 ลูกที่ว่านั้น... ไม่ได้พัดเข้าไทยแบบเต็มๆ ทั้ง 5 ลูกแต่อย่างใด 'ไหหม่า' พายุลูกแรกพัดจากฟิลิปปินส์มุ่งหน้าทางตะวันตกเหนือขึ้นเกาะไหหลำแล้วโฉบลงมาเข้าเวียดนาม อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันถึงจะเข้าลาว... 26 มิ.ย. มาถึงไทยสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ยิ่ง 'เนสาด–ไห่ถาง–นาลแก' แม้จะเป็นพายุ 3 ลูก ที่ก่อตัวขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกัน แต่อิทธิพลความรุนแรงต่อไทย สู้ไหหม่าไม่ได้ เพราะ เนสาด ออกจากฟิลิปปินส์มุ่งหน้าไปทางเหนือของเกาะไหหลำแล้วเข้าจีนไปเลย ส่วน ไห่ถาง ก่อตัวในทะเลทางใต้ของฮ่องกง พัดหมุนวนอยู่ ในทะเลใกล้เวียดนามตอนเหนือ หมุนวนอยู่อย่างนั้น 4 วัน (24-27 ก.ย.) แล้วสลายตัวขึ้นฝั่งเวียดนามกลายเป็นดีเปรสชัน พอเคลื่อนเข้าลาวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนจะเข้าไทย นาลแก มิต่างกัน แรกๆ ตั้งท่ามาแรงเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นถล่มฟิลิปปินส์แรงได้วันเดียว ลดระดับฮวบฮาบลงมาเป็นพายุโซนร้อนธรรมดาเกรดต่ำกว่าไต้ฝุ่นจากนั้นโฉบไปขึ้นเกาะไหหลำแล้วดาวน์เกรดลงมาเหลือสถานะแค่ดีเปรสชัน จากนั้นวกลงใต้ขึ้นฝั่งเวียดนามที่เมืองดองฮอย สลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนจะเข้าลาวและไทยอีกเช่นกัน ในบรรดาพายุ 5 ลูกที่กล่าวอ้าง มีแค่ 'นกเตน' เจ้าเดียวเท่านั้นที่พอจะพูดได้ว่าเป็นพายุที่พัดเข้าประเทศไทย... เพราะตอนพัดเข้าเวียดนามก่อนจะเข้าลาวยังมีสถานะเป็นพายุโซนร้อน ออกจากลาวจะเข้าไทยได้ลดระดับ เป็นดีเปรสชัน... แต่ก็แค่วันเดียวมาถึง จ.น่าน สลายกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ถึงจะแค่ดีเปรสชัน... แต่พอจะคุยกับคนไม่รู้เรื่องอุตุนิยมวิทยาได้ว่า ประเทศไทยมีพายุพัดเข้ามาเหมือนกัน น้ำจึงได้ท่วมเป็นมหาอุทกภัย ในขณะที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์เจอพายุตัวแม่ของจริงไปเต็มๆ... แต่ไฉนถึงไม่เป็นข่าววิกฤติระดับโลก น้ำท่วมมาราธอนยาวนาน 3–4 เดือน เหมือนไทยเรา ส่วนปมประเด็นพระพิรุณรับจ็อบนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามวางยาเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อน ในช่วงรอยต่อรัฐบาลเก่ารัฐบาลใหม่... เท็จจริงเป็นเช่นไรต้องแกะรอยปริมาณน้ำในเขื่อนที่ประชาชนธรรมดาสามารถหาสืบค้นได้ในเว็บไซต์ ...ได้ทั้งของกรมชลประทาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สถาบันสาร– สนเทศทรัพยากรน้ำและเกษตร (องค์การมหาชน) ไม่ต้องดูทุกเขื่อนทั่วไทย... ดูกันแค่เขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิติ์ ก็พอ เพราะเป็นที่ถูกกล่าวหามากที่สุด เริ่มต้นจ้องมอง... ดูปริมาณน้ำวันประกาศยุบสภาฯ 5 พ.ค.54 วันนั้นปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล มีอยู่ 45% ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีอยู่ 50%... ผ่านไปเดือนครึ่ง ก่อนไหหม่าจะพัดมา น้ำในเขื่อนภูมิพลมีอยู่ 55% เขื่อนสิริกิติ์ 54% หลังไหหม่าสลายตัวไป 7 วัน และก่อนเลือกตั้ง 1 วัน... 2 ก.ค.54 น้ำในเขื่อนภูมิพลเพิ่มมาเป็น 58% ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำเพิ่มเป็น 64% ยังเก็บน้ำได้อีกเยอะ ห้วงเวลาถัดมาคนไทยรู้กันแล้วว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี 29 ก.ค.54 ก่อนดีเปรสชันนกเตนจะถึงไทย... น้ำในเขื่อนภูมิพล มีอยู่ 63% เขื่อนสิริกิติ์ 77% 5 ส.ค. สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นวันที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีบันทึกไว้ว่า เป็นวันสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นเริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 8 ส.ค. มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ดีเปรสชันนกเตนสลายตัวไป 8 วันแล้ว... ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล เพิ่มมาอยู่ที่ 69% เขื่อนสิริกิติ์ 85% ปริมาณน้ำขนาดนี้มากเกินไปหรือไม่... ยังไม่อันตรายเพราะขีดความสามารถการรับน้ำของเขื่อนนั้น รับได้ 100% และต่อให้เกิน 100% ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาจ่อสันเขื่อนก็ยังรับได้ แต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มจะเก็บกักกันแค่ 100% เพราะถ้าปล่อยให้เกิน 100% แรงดันน้ำจะกดทับประตูจนไม่สามารถเปิดประตู Spillway ได้นั่นเอง 25 ส.ค. รัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศได้เต็มสูบ... ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล มีอยู่ 75% เขื่อนสิริกิติ์ 93% และเป็นวันแรกที่เขื่อนสิริกิติ์เริ่มระบายน้ำผ่าน Spillway วันละ 7.35 ล้านคิว นอกเหนือจากระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ระบายอยู่แล้ววันละประมาณ 50-60 ล้านคิว มาตั้งแต่ 4 ส.ค.54 ส่วนเขื่อนภูมิพลปริมาณน้ำอยู่ที่ 75% การระบายน้ำล้นยังไม่ได้ทำ มีแต่ระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าวันละ 20-30 ล้านคิวอยู่แล้ว สถานการณ์ขณะนั้นน้ำท่วมยังคงอยู่แถวสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร... คงจำกันได้ 28 ส.ค. 54 ชื่อ 'บางระกำโมเดล' มาโผล่เอาตอนนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยไปเยี่ยมเยียนแจกถุงยังชีพแถวนั้น ทัพน้ำยังมาไม่ถึงนครสวรรค์สักเท่าไร ให้บังเอิญเวลานั้นหลังจากนกเตนสลายตัวไม่มีพายุไหนพัดเข้ามาอีกเลย... รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ พายุเว้นวรรคให้ลืมน้ำท่วมไปได้ถึง 2 เดือน วุฒิภาวะตระหนักภัยมือน้ำท่วมเลยจืดจาง ปล่อยให้มหาดไทยสิงห์คลองหลอดขยันใช้งบฉุกเฉินซื้อถุงยังชีพแจก รับหน้าสื่อแก้ปัญหา... ส่วนรัฐบาลหันไปให้ความสำคัญเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่าแทน 27 ส.ค. ลดราคาน้ำมัน, 6 ก.ย. ย้ายเลขาธิการ สมช.เพื่อจะได้โยก ผบ.ตร.มานั่งแทนแล้วดันญาติมาเป็นใหญ่ใน สตช., 13 ก.ย. รถยนต์คันแรก, 20 ก.ย. บ้านหลังแรก และแล้ววันเวลาหลงระเริงประชานิยมต้องหยุด เมื่อ 3 พายุก่อตัวอาละวาดในช่วงเวลาไล่ๆกัน เนสาด (23-30 ก.ย.), ไห่ถาง (24-27 ก.ย.), นาลแก (26 ก.ย.-5 ต.ค.) พร้อมๆ กับน้ำท่าเริ่มรุกเข้านครสวรรค์-อุทัยธานี-ชัยนาท-อ่างทอง-สิงห์บุรี-ลพบุรี-อยุธยา 5 ต.ค.54 เริ่มมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลทางประตูน้ำล้นวันละ 40 ล้านคิว เพิ่มเติมจากที่ระบายเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว 60 ล้านคิว เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นมาเป็น 98% ของความจุเต็มอ่าง ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ปริมาณน้ำอยู่ที่ 99% แต่ไม่ระบายน้ำล้นระบายแค่เพื่อผลิตไฟฟ้าวันละ 60 ล้านคิว 6 ต.ค. น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร, 7 ต.ค. เทศบาลอโยธยา ใจกลางเมืองอยุธยาจมบาดาล... และผู้นำเพิ่งตั้งหลักได้ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นที่สนามบินดอนเมือง 8 ต.ค.น้ำทะลักแนวกั้นนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และอีกหลายนิคมอุตสาหกรรมจมน้ำตามมา เพราะเอาอยู่... จนกลายเป็นตำนานให้เล่าขานไปอีกนาน พระพิรุณรับจ็อบ หรือคนมีจ็อบแต่ทำไม่เป็น... ทั้งที่มีอำนาจเต็มตัวและมีเวลาให้รับมือถึง 2 เดือน เมื่อมีปัญญาคิดทำได้เท่านี้...สมควรแล้วที่ต้องโทษผีสางเทวดา. ที่มา - http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/218830 กอปข้อมูลมาจาก - http://www.oknation.net/blog/canthai/2011/11/25/entry-3 |
แสดงความคิดเห็น